ประกาศหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
ที่ 14 /2564
เรื่อง ผลการพิจารณาข้อเสนอชุดโครงการวิจัยโดยละเอียด
ภายใต้กรอบการวิจัย “การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่”
แผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagship) “มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่” ประจำปี 2564
ตามที่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้ประกาศรับข้อเสนอชุดโครงการวิจัย ภายใต้แผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagship) “มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่” กรอบการวิจัย “การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่” ประจำปีงบประมาณ 2564 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 โดยมีมหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาที่สนใจสามารถยื่นผ่านระบบ NRIIS เพื่อขอรับทุนสนับสนุนการวิจัยและกำหนดปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัย เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 โดย บพท. ได้ประกาศผลการพิจารณาข้อเสนอโครงการวิจัยเบื้องต้น เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 และมีข้อเสนอชุดโครงการวิจัยที่ผ่านการพิจารณาเบื้องต้นจำนวน 10 ชุดโครงการวิจัย นั้น
หน่วย บพท. ได้จัดการประชุมพิจารณาข้อเสนอชุดโครงการวิจัยโดยละเอียดโดยคณะกรรมการพิจารณาติดตาม และประเมินผล ภายใต้กรอบการวิจัย “การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่” ตามแผนงานริเริ่มสำคัญ “มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่” โปรแกรมที่ 13 นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 ซึ่งมีเกณฑ์การพิจารณาดังนี้ 1. โจทย์วิจัย เป้าหมาย และตัวชี้วัดของชุดโครงการวิจัยสอดคล้องกับกรอบการวิจัย และ OKR ของแผนงานริเริ่มสำคัญที่ประกาศทุน ได้แก่ (1.1) โจทย์วิจัยมีการวิเคราะห์ Supply Chain ที่ชัดเจน (1.2) การออกแบบแผนการดำเนิน งานวิจัยเพื่อตอบโจทย์วิจัยทั้ง 2 โจทย์ ประกอบด้วย (1) การพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (2) กระบวนการยกระดับและเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบ/ผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ได้มาตราฐานสินค้าแข่งขันได้ในตลาดที่แท้จริงและ มีการจัดการห่วงโซ่คุณค่าใหม่ (New Network Value Chain) เพื่อให้เกิดโครงสร้างการกระจายรายได้สู่เกษตรกรผู้ผลิต/ผู้ผลิตต้นน้ำอย่างเป็นธรรม (Fairtrade)(1.3) มีความเข้าใจปัญหาของกลุ่มเป้าหมายที่เลือกศึกษา 2. กระบวนการวิจัยเพื่อตอบโจทย์และเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่ (2.1) ความชัดเจนของ Research Framework และการออกแบบที่ชี้ให้เห็นว่าสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ร้อยละ 10 หรือมีโอกาสเพิ่มรายได้ชุมชนร้อยละ 15(2.2) แผนการดำเนินวิจัยเพื่อตอบโจทย์ทั้ง 2 โจทย์ (2.3) ความเชื่อมโยงของโครงการวิจัยย่อยในชุดโครงการวิจัย 3. การบริหารการวิจัย ทั้งศักยภาพและองค์ประกอบของคณะผู้วิจัยรวมถึงความร่วมมือกับภาคีในพื้นที่ และ 4. ความคุ้มค่าของการลงทุนวิจัยและโอกาสประสบความสำเร็จของโครงการวิจัย โดยรายชื่อข้อเสนอชุดโครงการวิจัยที่ผ่านการพิจารณาโดยละเอียดตามเอกสารแนบท้าย
ทั้งนี้ หน่วย บพท.จะประสานไปยังหัวหน้าชุดโครงการวิจัยที่ผ่านการพิจารณาโดยละเอียดและจัดส่งหนังสือความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพิจารณาติดตาม และประเมินผลฯ เพื่อปรับข้อเสนอโครงการวิจัยให้สมบูรณ์และจัดทำสัญญารับทุนวิจัย (TOR) ต่อไป โดยขอสงวนสิทธิ์การสนับสนุนทุนวิจัยสำหรับข้อเสนอชุดโครงการวิจัยที่ปรับแก้ไขรายละเอียดและกรอบงบประมาณตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพิจารณาติดตาม และประเมินผลฯ เท่านั้น อนึ่ง ข้อเสนอชุดโครงการวิจัยที่ไม่ผ่านการพิจารณาเบื้องต้น หน่วย บพท. จะจัดส่งหนังสือแจ้งเหตุผลไปยังหัวหน้าชุดโครงการวิจัยรายโครงการต่อไป
ประกาศ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา
ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่