ประกาศข่าวและกิจกรรม

รายละเอียดข่าวและกิจกรรม

ประกาศรับข้อเสนอโครงการทุนบูรณาการเพื่อความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ Thailand MED TECH Excellence Fund (TMTE Fund) ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๓

เนื้อความ :

ด้วยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เดิม) โดยคณะอนุกรรมการสถาบันอุดมศึกษาร่วมภาคเอกชน พัฒนาการศึกษา การวิจัย นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ในการประชุมครั้งที่ ๑๐/๒๕๖๑ เมื่อวันอังคารที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๑ เห็นชอบให้ดำเนินการโครงการทุนบูรณาการเพื่อความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ Thailand MED TECH Excellence Fund (TMTE Fund) มีเป้าหมายเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ มาบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ไปใช้ประโยชน์และสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนทุนด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ ตามระดับความพร้อมด้านเทคโนโลยี (Technology Readiness Levels : TRL) ตั้งแต่ขั้นตอนของการตรวจสอบความต้องการของตลาด (Market Validation) ไปจนถึงขั้นตอนการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ (Commercial Production) โดยร่วมมือกับกลุ่มหน่วยงานให้ทุนวิจัยต่างๆ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เดิม) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) และกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการสนับสนุนเพื่อผลักดันงานวิจัยไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ประกอบกับในการประชุมหารือหน่วยให้ทุนวิจัยและผู้เกี่ยวข้อง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๒ มีมติร่วมกันในการดำเนินการโครงการทุนบูรณาการฯ ปีที่ ๒ โดยเพิ่มความร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมมือกับกลุ่มหน่วยงานให้ทุนวิจัยต่างๆ จึงขอเปิดรับข้อเสนอโครงการทุนบูรณาการเพื่อความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ Thailand MED TECH Excellence Fund (TMTE Fund) ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๓ โดยมีรายละเอียดดังนี้

๑. ลักษณะของโครงการ

โครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุน ต้องเป็นโครงการที่เป็นผลงานที่เกิดจาก Medical Technology ที่ครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์ และบริการ เช่น วัสดุ เครื่องมือ อุปกรณ์และบริการทางการแพทย์และสุขภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อดูแลผู้ป่วยตั้งแต่การป้องกัน (Prevention) การส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion) การค้นหาและวินิจฉัย (Diagnostic) การเยียวยา (Treatment) การฟื้นฟู (Rehabilitation) เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย และการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนการพัฒนาสุขภาพ/คุณภาพชีวิตประชาชน โดยมุ่งเน้น

๑) นวัตกรรมเพื่อสังคมผู้สูงอายุ หรือ

๒) นวัตกรรมเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ ลดการนำเข้า และการพึ่งพาตัวเองของประเทศ หรือ

๓) เป็นนวัตกรรมที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ในระดับโลก หรือ

๔) โครงการที่มีแนวโน้มผลิตสินค้า/บริการ ออกสู่ตลาดภายใน ๓ - ๕ ปี จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ


๒. เงื่อนไขการสนับสนุน

ข้อเสนอโครงการต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

๒.๑ โจทย์/หัวข้อวิจัยต้องเป็นความต้องการของผู้ใช้ (Demand pull) โดยมีเป้าหมายการวิจัย การนำผลงานวิจัยไปใช้ และมีแผนธุรกิจ (Business Model) ที่ชัดเจน

๒.๒ ผลิตภัณฑ์หรือบริการจะต้องผ่านการทดสอบความเป็นไปได้ (Proof of concept) มาก่อน

๒.๓ ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่จะพัฒนามีศักยภาพ มีโอกาสขยายผล รวมถึงสร้างผลกระทบ (impact) ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างและมีมูลค่าสูง

๒.๔ องค์ความรู้หรือเทคโนโลยีที่จะพัฒนามีความเป็นไปได้ โอกาสสำเร็จในการพัฒนา รวมถึงการออกสู่ตลาด โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ อาทิ ขนาดและการเติบโตของตลาด ความสามารถในการแข่งขัน ความร่วมมือกับผู้ประกอบการ/ผู้ใช้ในโครงการวิจัย เป็นต้น

๒.๕ ผลงานที่ขอรับทุนมีแนวทางในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลอื่น และสามารถเจรจาในการบริหารทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกัน

ทั้งนี้ กลุ่มหน่วยงานให้ทุนวิจัยต่างๆ ขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาตามเกณฑ์ของแต่ละแหล่งทุน

 

๓. รูปแบบการสนับสนุน

เป็นทุนอุดหนุนสมทบบางส่วน (Matching Grant/Fund) ดังนี้

๓.๑ เพื่อทำ market validation วงเงินไม่เกิน ๑ ล้านบาท (ไม่เกิน ๙๐% ของมูลค่าโครงการที่ได้รับอนุมัติ)

๓.๒ เพื่อปรับปรุงต้นแบบ วงเงินตามความเหมาะสม แต่ไม่เกิน ๘๐% ของมูลค่าโครงการที่ได้รับอนุมัติ

๓.๓ เพื่อทดสอบต้นแบบ วงเงินตามความเหมาะสม แต่ไม่เกิน ๘๐% ของมูลค่าโครงการที่ได้รับอนุมัติ ได้แก่ Product testing , Pre-Clinical , Clinical Trials และ Manufactural Standard

๓.๔ เพื่อทดสอบตลาด ค่าที่ปรึกษาด้านการตลาด วงเงินไม่เกิน ๑ ล้านบาท (ไม่เกิน ๙๐% ของมูลค่าโครงการที่ได้รับอนุมัติ)

๓.๕ เพื่อพัฒนาด้านการตลาด วงเงินไม่เกิน ๐.๘ ล้านบาท (ไม่เกิน ๗๕% ของมูลค่าโครงการที่ได้รับอนุมัติ)

๓.๖ ข้อเสนอโครงการจะต้องมีแผนงานครอบคลุมขั้นตอนข้างต้น (ข้อที่ ๑ – ๕) แต่วงเงินสนับสนุนขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแหล่งทุนในแต่ละขั้นตอน

๓.๗ หมวดค่าใช้จ่ายที่อยู่ในข่ายสนับสนุน ขึ้นกับประเภทของกิจกรรมในการสนับสนุน และเกณฑ์ของแต่ละแหล่งทุน

 

๔. คุณสมบัติของผู้เสนอขอโครงการ

๔.๑ ผู้เสนอขอโครงการจะต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจตามกฎหมายไทย และมีคนไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า ๕๑% หรือ นักวิจัย (ในกรณีที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลตามข้างต้น สามารถยื่นคำขอรับการสนับสนุนในนามบุคคลธรรมดาก่อน แล้วจึงจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลในภายหลัง ก่อนวันลงนามสัญญารับการสนับสนุนได้) หรือ 

เป็นนักวิจัยที่จับคู่กับนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจตามกฎหมายไทย และมีคนไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า ๕๑% (ต้องมีการดำเนินงานด้านการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ หรือมีความร่วมมืออื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา หรือสถาบันวิจัย

๔.๒ ทุนจดทะเบียนร่วมไม่เกิน ๒๐ ล้านบาท หรือมูลค่าบริษัทไม่เกิน ๒๐๐ ล้านบาท

 

๕. การพิจารณาคัดเลือกโครงการ

พิจารณาคัดเลือกโครงการโดยคณะกรรมการทุนบูรณาการเพื่อความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ Thailand MED TECH Excellence Fund (TMTE Fund) โดยพิจารณาจากลักษณะของโครงการ และเงื่อนไขการสนับสนุน ความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ ตลอดจนความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในเชิงวิชาการและเศรษฐศาสตร์ ทั้งนี้ คำตัดสินของคณะกรรมการฯ ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด

 

๖. ระยะเวลาการส่งข้อเสนอโครงการ

ภายในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๒๔.๐๐ น

 

๗. การส่งข้อเสนอโครงการ

ผู้เสนอขอโครงการจะต้องยื่นข้อเสนอโครงการ (proposal) ผ่านระบบออนไลน์ที่ https://www.tmtefund.org

 

๘. การประกาศผลการพิจารณา

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอโครงการ ผ่านทางเว็บไซด์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่ http://www.mua.go.th และ https://www.tmtefund.org  และผ่านทาง Facebook ที่ https://www.facebook.com/TMTEFund  

ข่าว : ทุนวิจัยที่เปิดรับ
วันที่ประกาศข่าว : 22 ต.ค.62
ประกาศโดย : สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ( แก้ไขครั้งล่าสุดเมื่อ 22 ต.ค.62)
จำนวนครั้งที่อ่าน : 9,655 ครั้ง
ติดต่อเรา