๑. หลักการและเหตุผล
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) พัฒนาระบบคลังข้อมูลงานวิจัยไทย (Thai National Research Repository: TNRR) เพื่อบูรณาการข้อมูลงานวิจัยและระบบบริหารจัดการงานวิจัย เพื่อสนับสนุนการปฏิรูประบบวิจัยของประเทศ ต่อมาในปี ๒๕๕๗ คอบช. เห็นชอบให้ปรับระบบคลังข้อมูลงานวิจัยไทย (TNRR) เป็น ๒ ระบบ คือ ระบบบริหารจัดการงานวิจัยของประเทศ และระบบคลังข้อมูลงานวิจัยไทยที่มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน วช. จึงได้ดำเนินการร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัยแห่งชาติ (National Research Management System: NRMS) โดยขยายขอบเขตจากกระบวนการทำงานของระบบบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (ระบบ NRPM) ให้ครอบคลุมการบริหารจัดการงบประมาณและงานวิจัยของหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานแหล่งทุน และหน่วยงานอื่น ๆ ระบบ NRMS ประกอบด้วย ระบบประเมินข้อเสนอการวิจัย (Proposal assessment) ที่จุดเดียวโดยใช้แบบฟอร์มกลาง (Single form) ระบบดำเนินการและติดตามงานวิจัย (Ongoing & monitoring) ระบบประเมินผลงานวิจัย (Research evaluation) และระบบฐานข้อมูลนักวิจัย
วช. ได้พัฒนาระบบประเมินข้อเสนอการวิจัย (Proposal assessment) แล้วเสร็จ และได้เปิดใช้งานเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๗ ให้นักวิจัย ผู้ประสานหน่วยงาน และผู้เกี่ยวข้องส่งข้อเสนอการวิจัยทุนงบประมาณแผ่นดินประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๙ และทุนวิจัยมุ่งเป้าประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ และได้เปิดใช้งานระบบดำเนินการและติดตามงานวิจัย (Ongoing & monitoring) และระบบประเมินผลงานวิจัย (Research evaluation) เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๘ สำหรับหน่วยงานภาครัฐนำเข้าข้อมูลโครงการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ ผลการดำเนินการโครงการ ข้อมูลการนำผลงานวิจัยไปเผยแพร่หรือใช้ประโยชน์ ผลลัพธ์ ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และการนำออกรายงานเพื่อการบริหารงานวิจัยของหน่วยงาน
เนื่องจากระบบ NRMS ได้เริ่มเปิดใช้งานครบทุกระบบงานและเพื่อให้ผู้บริหาร นักวิจัย และผู้ประสานงานหน่วยงานภาครัฐเข้าใจกระบวนการทำงานและสามารถนำข้อมูลเข้าระบบ NRMS ได้ถูกต้องและครบถ้วน วช. จึงเห็นสมควรจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้ระบบดังกล่าวให้กับผู้บริหาร/ผู้ประสานหน่วยงาน/นักวิจัย ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้รับทราบกระบวนการทำงานของระบบ รวมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพต่อไป
๒. วัตถุประสงค์
๑. เพื่อให้ผู้บริหาร/ผู้ประสานงานหน่วยงาน/นักวิจัยของหน่วยงานภาครัฐเรียนรู้การใช้ระบบ Ongoing & monitoring และระบบ Research evaluation
๒. เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
๓. ผู้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ
- ผู้บริหาร/ผู้ประสานหน่วยงาน/นักวิจัยของหน่วยงานภาครัฐ ครั้งละประมาณ ๓๖ คน
- ผู้ประสานหน่วยงาน/นักวิจัยควรจะนำข้อมูลโครงการวิจัยที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณหรือดำเนินการแล้วเสร็จระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๑ – ๒๕๕๗ ในรูปแบบ digital มาด้วยเพื่อนำเข้าระบบ Ongoing & monitoring และ Research evaluation
๔. ระยะเวลาและสถานที่จัดอบรม
ครั้งที่ ๑ วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐ สำหรับนักวิจัย (ปิดรับลงทะเบียน) ตรวจสอบรายชื่อผู้ลงทะเบียนที่นี่
ครั้งที่ ๒ วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๐ สำหรับผู้ประสานหน่วยงานและผู้บริหารงานวิจัย ลงทะเบียนที่นี่
ครั้งที่ ๓ วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๐ สำหรับนักวิจัย (ปิดรับลงทะเบียน) ตรวจสอบรายชื่อผุ้ลงทะเบียนที่นี่
ครั้งที่ ๔ วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐ สำหรับผู้ประสานหน่วยงานและผู้บริหารงานวิจัย (ปิดรับลงทะเบียน) ตรวจสอบรายชื่อผู้ลงทะเบียนที่นี่
ครั้งที่ ๕ วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๐ สำหรับนักวิจัย (ปิดรับลงทะเบียน) ตรวจสอบรายชื่อผู้ลงทะเบียนที่นี่
ครั้งที่ ๖ วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๐ สำหรับผู้ประสานหน่วยงานและผู้บริหารงานวิจัย (ปิดรับลงทะเบียน) ตรวจสอบรายชื่อผู้ลงทะเบียนที่นี่
** เลือกลงทะเบียน 1 ครั้ง เท่านั้น
สถานที่ : ณ ห้องอบรมคอมพิวเตอร์ อาคาร วช. ๓ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
๕. วิธีดำเนินงาน
๕.๑ รอบนักวิจัย
๑) เรียนรู้และฝึกปฏิบัติการใช้ระบบ Ongoing& monitoring
๑.๑) การนำข้อมูลรายละเอียดโครงการที่ได้รับงบประมาณดำเนินการวิจัย เข้าระบบ Ongoing & monitoring
๑.๒) การรายงานแผนงาน และผลการดำเนินงานตามแผน
๑.๓) การรายงานความก้าวหน้า และการรายงานฉบับสมบูรณ์
๑.๔) การยกเลิกโครงการ
๒) เรียนรู้ และฝึกปฏิบัติการใช้ระบบ Research evaluation
๒.๑) การรายงานข้อมูล Output Outcome
๒.๒) การกำหนดขอบเขตการเปิดเผยข้อมูลโครงการ
๕.๒ รอบผู้ประสานหน่วยงาน
๑) เรียนรู้และฝึกปฏิบัติการใช้ระบบ Ongoing & monitoring
๑.๑) การนำเข้าข้อมูลโครงการจากระบบ Proposal assessment มายัง Ongoing & monitoring
๑.๒) การจัดกลุ่มโครงการและการกรอกผลการจัดสรรงบประมาณ (สำหรับโครงการที่ผ่านระบบ Proposal assessment)
๑.๓) การปรับปรุงรายละเอียดโครงการที่ได้รับงบประมาณดำเนินการวิจัยในระบบ Ongoing & monitoring
๑.๔) การรายงานแผนงาน และผลการดำเนินงานตามแผน
๑.๕) การรายงานความก้าวหน้า/การรายงานฉบับสมบูรณ์ และการตรวจสอบรายงานความก้าวหน้า/รายงานฉบับสมบูรณ์
๑.๖) การแนบไฟล์รายงานเพื่อปิดโครงการและการปิดโครงการ
๑.๗) การยกเลิกโครงการ
๑.๘) การขยายระยะเวลาโครงการ
๑.๙) การนำเข้าข้อมูลโครงการเข้าใหม่ (สำหรับโครงการที่ไม่ผ่านระบบ Proposal assessment)
๑.๑๐) ระบบรายงาน
๑.๑๑) เครื่องมือช่วยเหลือในระบบ NRMS
๒) เรียนรู้ และฝึกปฏิบัติการใช้ระบบ Research evaluation
๒.๑) การรายงานข้อมูล Output Outcome
๒.๒) การกำหนดขอบเขตการเปิดเผยข้อมูลโครงการ
๓) เรียนรู้และฝึกปฏิบัติการจัดการนักวิจัย การจัดการข้อมูลผู้ใช้งานของหน่วยงาน และการจัดการข้อมูลหน่วยงาน
๖.ผู้รับผิดชอบโครงการ
นางกนกพร เกิดเอนก และนางสาวนวรัตน์ เยาวรัตน์
กองมาตรฐานการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
โทร : ๐๒-๕๖๑-๒๔๔๕ ต่อ ๖๐๗, ๖๑๗, ๐๒-๙๔๐-๖๕๐๑
โทรสาร : ๐๒-๙๔๐-๖๕๐๑, ๐๒-๕๗๙-๐๕๙๓
๗. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
ผู้บริหาร/ผู้ประสานหน่วยงาน/นักวิจัย ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานของระบบ NRMS และสามารถกรอกข้อมูลรายละเอียดการติดตามโครงการวิจัยและผลสำเร็จของการดำเนินงานวิจัยเข้าสู่ระบบบริหารจัดการงานวิจัยแห่งชาติ (ระบบ NRMS) ได้ถูกต้อง
**************************************************
หมายเหตุ : หลังจากอบรมแล้วผู้ประสานหน่วยงาน/นักวิจัย สามารถอยู่ปฏิบัติงานต่อเพื่อนำข้อมูลจริงเข้าระบบได้ โดยมีเจ้าหน้าที่ วช. ให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้จะต้องเตรียมข้อมูลโครงการวิจัย และรายงานฉบับสมบูรณ์ ในรูปดิจิตอลไฟล์มาด้วย
* อาจปรับเปลี่ยนสถานที่และเวลาการจัดอบรมได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
** ผู้เข้ารับการอบรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการอบรม
*** ทั้งนี้ ระบบลงทะเบียนจะตรวจสอบประวัติการเข้าร่วมอบรม หากเคยลงทะเบียนอบรมแล้วไม่มาเข้าร่วมอบรมโดยไม่แจ้งให้ วช. ทราบ จะไม่สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมอบรม NRMS ปี 2560 ได้