๑. หลักการและเหตุผล
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) พัฒนาระบบคลังข้อมูลงานวิจัยไทย (Thai National Research Repository: TNRR) เพื่อบูรณาการข้อมูลงานวิจัยและระบบบริหารจัดการงานวิจัย เพื่อสนับสนุนการปฏิรูประบบวิจัยของประเทศ ต่อมาในปี ๒๕๕๗ คอบช. เห็นชอบให้ปรับระบบคลังข้อมูลงานวิจัยไทย (TNRR) เป็น ๒ ระบบ คือ ระบบบริหารจัดการงานวิจัยแห่งชาติ และระบบคลังข้อมูลงานวิจัยไทยที่มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน วช. จึงได้ดำเนินการร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัยแห่งชาติ (National Research Management System: NRMS) โดยขยายขอบเขตจากกระบวนการทำงานของระบบบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (ระบบ NRPM) ให้ครอบคลุมการบริหารจัดการงบประมาณและงานวิจัยของหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานแหล่งทุน และหน่วยงานอื่นๆ ระบบ NRMS ประกอบด้วย ระบบประเมินข้อเสนอการวิจัย (Proposal assessment) ระบบดำเนินการและติดตามงานวิจัย (Ongoing & monitoring) ระบบประเมินผลงานวิจัย (Research evaluation) และระบบฐานข้อมูลนักวิจัย
ในการบริหารงานวิจัยด้วยระบบ NRMS นั้น หน่วยงานภาครัฐประมาณ ๒๐๐ หน่วยงาน ได้นำข้อมูลวิจัยเข้าระบบ NRMS ตั้งแต่เริ่มเสนอขอทุนวิจัยจนถึงสิ้นสุดการวิจัย และสามารถสืบค้นข้อมูลจากระบบเพื่อนำไปจัดทำรายงานหรือสารสนเทศการวิจัยในเรื่องต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐทั้งในเรื่องการนำข้อมูลเข้าระบบและการสืบค้นข้อมูลเพื่อนำออกข้อมูลสู่การใช้ประโยชน์ มักจะประสบปัญหาความยุ่งยากในการดำเนินงานและการใช้งานระบบมากน้อยแตกต่างกันตามระดับความต้องการใช้ข้อมูลและประสบการณ์ในการใช้ระบบ ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีข้อมูลวิจัยสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี และปัจจุบันข้อมูลวิจัยในระบบ NRMS ได้ถูกนำไปใช้ในเชิงนโยบายเพื่อการบริหารงานวิจัยโดยหน่วยงานระดับนโยบายและรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและมีความเข้าใจที่ตรงกันตลอดจนเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการใช้งานระบบ NRMS วช. จึงกำหนดให้มีการประชุมประจำปีระหว่างผู้ประสานงานระบบ NRMS ของหน่วยงานภาครัฐกับเจ้าหน้าที่ วช. ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ณ โรงแรมโกลเด้น บีช ชะอํา จังหวัดเพชรบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ และเจ้าหน้าที่ วช. ทั้งในประเด็นด้านนโยบายและการบริหารจัดการงานวิจัยและงบประมาณวิจัย รวมทั้งการรายงานความก้าวหน้าการปรับปรุงหรือพัฒนาทางเทคนิคของระบบ NRMS จากที่ วช. ได้ดำเนินการพัฒนาเพิ่มเติมในรอบปีที่ผ่านมาตามข้อเสนอแนะของผู้ใช้งานระบบ การจัดประชุมประจำปีจะเป็นกระบวนการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและสำคัญยิ่งของความสำเร็จของการเสริมสร้างความร่วมมือในการปฏิบัติงานระหว่างเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐและเจ้าหน้าที่ วช. ในการประสานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
๒. วัตถุประสงค์
๒.๑ เพื่อสร้างความเข้าใจแนวทางการบริหารจัดการงานวิจัยและงบประมาณวิจัยให้แก่ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ
๒.๒ เพื่อให้ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐได้รับทราบผลการดำเนินงาน การรายงานความก้าวหน้า และแผนการพัฒนาระบบ NRMS ในระยะต่อไป
๒.๓ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน ระหว่างผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ วช. เพื่อนำไปปรับปรุงระบบ NRMS และกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
๒.๔ เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเจ้าหน้าที่ วช.
๓. วัน เวลา และ สถานที่
ระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ณ โรงแรมโกลเด้น บีช ชะอํา จังหวัดเพชรบุรี
๔. ผู้เข้าร่วมประชุม ประมาณ ๔๐๐ คน ประกอบด้วย
๔.๑ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบและปฏิบัติงานเกี่ยวกับระบบ NRMS (ผู้ประสานงานระบบ NRMS ของหน่วยงานภาครัฐ)
๔.๒ ผู้ทรงคุณวุฒิระบบ NRMS
๔.๓ ทีมพัฒนาระบบ NRMS มหาวิทยาลัยมหิดล
๔.๔ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)
๕. วิธีการดำเนินงาน
การบรรยายและการประชุมกลุ่มย่อย
๖. ผู้รับผิดชอบโครงการ
นางกนกพร เกิดเอนก และ นางสาวรัตนา สุวรรณวิชนีย์
กองมาตรฐานการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
โทร : ๐๒-๕๖๑-๒๔๔๕ ต่อ ๖๐๗, ๖๑๑, ๐๒-๕๗๙-๐๕๙๓, ๐๒-๙๔๐-๖๕๐๑
โทรสาร : ๐๒-๙๔๐-๖๕๐๑, ๐๒-๕๗๙-๐๕๙๓
๗. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๗.๑ ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ (ผู้ใช้งานหลักของระบบ NRMS) ที่เกี่ยวกับการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค ความยุ่งยากในการใช้ระบบ รวมทั้งข้อเสนอแนะและความต้องการใช้ประโยชน์จากระบบและข้อมูลในระบบ เพื่อการปรับปรุงระบบให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้มากที่สุดตามศักยภาพที่ระบบจะสามารถอำนวยความสะดวกให้ได้
๗.๒ การสร้างความเข้มแข็งของกลไกความร่วมมือในการปฏิบัติงานด้านการบริหารจัดการงานวิจัยในลักษณะเครือข่ายสังคมระหว่างเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐและเจ้าหน้าที่ วช. ในการประสานการทำงานร่วมกัน
ค่าใช้จ่าย : วช. ออกค่าใช้จ่ายในเรื่องอาหาร และที่พัก รวมทั้งมีรถบริการไปและกลับระหว่าง วช. และโรงแรม ส่วนขากลับสามารถเลือกได้ว่าจะลง วช. หมอชิต หรือว่าดอนเมือง
ลงทะเบียนหน่วยงานละ 2 คน คลิกที่นี่
***********************************************